ยุคสฤษดิ์และยุคถนอม-ประภาส ของ ประวัติศาสตร์ไทย (พ.ศ. 2475–2516)

เผด็จการสฤษดิ์และการฟื้นฟูพระราชอำนาจ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จฯ เยี่ยมจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ที่โรงพยาบาลเมื่อปี 2506

ในปี 2498 จอมพล ป. เสียตำแหน่งนำในกองทัพแก่คู่แข่งที่มีจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และพลเอก ถนอม กิตติขจรเป็นผู้นำ เพื่อยันฐานะของเขา จอมพล ป. ฟื้นฟูรัฐธรรมนูญปี 2492 และจัดการเลือกตั้ง ซึ่งผู้สนับสนุนของเขาชนะ แต่กองทัพยังไม่พร้อมสละอำนาจ และในเดือนกันยายน 2500 เรียกร้องให้จอมพล ป. ลาออกจากตำแหน่ง เมื่อจอมพล ป. พยายามสั่งจับกุมจอมพลสฤษดิ์ กองทัพจึงรัฐประหารโดยไม่เสียเลือดเนื้อเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2500 ยุติบทบาททางการเมืองของจอมพล ป.

จอมพลสฤษดิ์เริ่มการฟื้นฟูพระราชอำนาจ กองทัพและพระมหากษัตริย์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด พระมหากษัตริย์กลับมามีพระราชอำนาจดังก่อนการปฏิวัติสยามปี 2475 จอมพลถนอมเป็นนายกรัฐมนตรีจนถึงปี 2501 แล้วคืนตำแหน่งให้กับจอมพลสฤษดิ์ เขาเป็นนายกรัฐมนตรีจนถึงแก่อสัญกรรมในปี 2506 เขาดำเนินนโยบายสร้างโครงสร้างสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า น้ำประปาและถนน และดำเนินโยบายเป็นพันธมิตรกับสหรัฐเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค โดยสหรัฐเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศ เริ่มต้นการทำให้ทันสมัย การกลายเป็นตะวันตก และดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ

รัฐบาลสฤษดิ์และถนอมได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากสหรัฐ ประเทศไทยเป็นพันธมิตรของสหรัฐในปี 2497 ด้วยการสถาปนาองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) หลังสหรัฐเข้าร่วมสงครามเวียดนามต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ประเทศไทยถือฝ่ายสหรัฐเต็มที่ โดยลงนามความตกลงลับส่งทหารไปเวียดนามและลาว และอนุญาตให้สหรัฐใช้ฐานทัพอากาศในประเทศเพื่อดำเนินการทัพทิ้งระเบิดต่อประเทศเวียดนามเหนือ

สงครามเวียดนามกับการพัฒนา

สงครามเวียดนามเร่งกระบวนการทำให้สังคมไทยทันสมัยและกลายเป็นตะวันตก การมีทหารอเมริกันและการเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกมีผลกระทบต่อแทบทุกส่วนของชีวิตคนไทย โดยก่อนปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 การเข้าถึงวัฒนธรรมตะวันตกอย่างเต็มที่นั้นจำกัดอยู่เฉพาะอภิชนที่มีการศึกษาสูง เมื่อเงินดอลลาร์สหรัฐเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ ภาคบริการ การขนส่งและอุตสาหกรรมก่อสร้างเติบโตขึ้นอย่างมาก เช่นเดียวกับยาเสพติดและการค้าประเวณี หน่วยครอบครัวชนบทแบบเดิมเสื่อมลงเมื่อคนไทยชนบทย้ายเข้าเมืองเพื่อหางานทำ ทำให้เกิดการปะทะกันทางวัฒนธรรมเมื่อคนไทยเปิดรับความคิดเกี่ยวกับแฟชัน ดนตรี ค่านิยมและมาตรฐานศีลธรรมแบบตะวันตก

ประชากรเริ่มเติบโตแบบก้าวกระโดดเช่นเดียวกับมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้น ประเทศไทยมีประชากร 30 ล้านคนในปี 2508 แต่เมื่อสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 (ประมาณปี 2543) ประชากรของประเทศเพิ่มขึ้นสองเท่า ประชากรของกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นสิบเท่าตั้งแต่ปี 2488

โอกาสการศึกษาและการเปิดรับสื่อมวลชนเพิ่มขึ้นระหว่างยุคสงครามเวียดนาม นักศึกษามหาวิทยาลัยเรียนรู้เกี่ยวกับความคิดระบบเศรษฐกิจและการเมืองของไทยเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการรื้อฟื้นการเคลื่อนไหวของนักศึกษา ยุคสงครามเวียดนามยังมีการเติบโตของชนชั้นกลางซึ่งค่อย ๆ พัฒนาอัตลักษณ์และสำนึกของตนเอง

การพัฒนาเศรษฐกิจยังนำมาซึ่งความไม่เสมอภาค ระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1960 คนยากจนในชนบทเริ่มรู้สึกไม่พอใจกับสภาพของตนในสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ และเห็นการถูกปฏิบัติโดยรัฐบาลกลางในกรุงเทพมหานคร ความพยายามของรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่ชนบทที่ยากจนไม่มีผลที่ต้องการโดยส่งเสริมให้เกิดความสำนึกของเกษตรกรว่าได้รับการปฏิบัติเลวร้ายเพียงใด การเพิ่มการปรากฏของรัฐบาลในหมู่บ้านชนบทแทบไม่ค่อยพัฒนาสถานการณ์ หมู่บ้านถูกทหารและตำรวจก่อกวนเพิ่มขึ้น และมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงของข้าราชการ เมื่อถึงต้นคริสต์ทศวรรษ 1970 ความไม่พอใจในชนบทสำแดงเป็นขบวนการเคลื่อนไหวของเกษตรกร

สิ่งแวดล้อมทางการเมืองของไทยแตกต่างจากยุคสฤษดิ์ไม่มากนัก จอมพอลถนอมและจอมพลประภาสยังรวบอำนาจไว้อย่างแน่นหนา พันธมิตรระหว่างทั้งสองยิ่งมั่นคงขึ้นจากการสมรสธิดาของประภาสกับบุตรของถนอม เมื่อถึงปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 หลายภาคส่วนในสังคมไทยเริ่มวิจารณ์รัฐบาลทหารอย่างเปิดเผยซึ่งถูกมองว่าไม่สามารถจัดการกับปัญหาของประเทศได้มากขึ้นทุกที ไม่เพียงแต่นักเคลื่อนไหวที่เป็นนักศึกษาเท่านั้น แต่ชุมชนธุรกิจยังเริ่มตั้งคำถามถึงความเป็นผู้นำของรัฐบาลและความสัมพันธ์ของรัฐบาลกับสหรัฐ

จอมพลถนอมถูกบีบให้ผ่อนคลายการรวบอำนาจเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงมีความเห็นว่าถึงเวลาฟื้นฟูรัฐสภาและให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว หลังจอมพลสฤษดิ์เลิกรัฐธรรมนูญในปี 2501 มีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แต่เวลาผ่านไปเกือบสิบปีแล้วยังไม่แล้วเสร็จ สุดท้ายในปี 2511 รัฐบาลออกรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และจัดการเลือกตั้งในปีถัดมา พรรครัฐบาลที่คณะทหารผู้ยึดอำนาจปกครองก่อตั้งชนะการเลือกตั้งและถนอมได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

อย่างไรก็ดี สมาชิกสภาจำนวนหนึ่งเริ่มท้าทายนโยบายของรัฐบาลอย่างเปิดเผย โดยเปิดโปงหลักฐานการฉ้อราษฎร์บังหลวงของรัฐบาลอย่างกว้างขวางในโครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ ระหว่างที่มีการอภิปรายงบประมาณใหม่ในปี 2514 เมื่อดูเหมือนว่าข้อเรียกร้องงบประมาณเพิ่มของกองทัพจะถูกตีตก ถนอมจึงรัฐประหารตนเอง ระงับรัฐธรรมนูญ และยุบสภา ทำให้ประเทศไทยหวนกลับสู่การปกครองระบอบทหารอย่างสมบูรณ์อีกครั้ง แนวทางดังกล่าวซึ่งเคยใช้ได้ผลในสมัยจอมพล ป. และจอมพลสฤษดิ์กลับไม่ประสบความสำเร็จ จนถึงต้นคริสต์ทศวรรษ 1970 ประเทศไทยมีสำนึกทางการเมืองซึ่งไม่ยอมรับการปกครองอำนาจนิยมอย่างไม่ชอบธรรม

คณะผู้ยึดอำนาจการปกครองยังเผชิญการคัดค้านจากในกองทัพเองเพิ่มขึ้น ถนอมและประภาสมีการควบคุมกองทัพโดยตรงได้น้อยลงเนื่องจากใช้เวลาไปกับบทบาททางการเมือง นายทหารหลายคนรู้สึกโกรธกับการเลื่อนยศของณรงค์ บุตรจอมพลถนอม อย่างรวดเร็ว และข้อเท็จจริงที่ว่าเขาดูได้รับลิขิตให้เป็นทายาทของถนอม จนดูเหมือนกับว่ากำลังจะมีการสร้างตระกูลการเมือง

กบฏชาวนา

ขบวนการชาวนาเริ่มต้นในภูมิภาคทางเหนือของที่ราบลุ่มภาคกลางและพื้นที่เชียงใหม่ (ซึ่งไม่ใช่ที่ที่การก่อการกำเริบคอมมิวนิสต์สูงสุด) เมื่อภูมิภาคเหล่านี้มีการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อภิชนท้องถิ่นเก่าได้รับอนุญาตให้ถือครอบที่ดินผืนใหญ่ ผลสุดท้ายทำให้ในคริสต์ทศวรรษ 1960 ครัวเรือนเกือบ 30% ไม่มีที่ดินทำกิน

ในต้นคริสต์ทศวรรษ 1970 นักศึกษาช่วยนำการประท้วงท้องถิ่นบางส่วนเข้าสู่เวทีระดับชาติ การประท้วงมุ่งเน้นการเสียที่ดิน ค่าเช่าที่สูง บทบาทไม่ยั้งมือของตำรวจ การฉ้อราษฎร์บังหลวงในหมู่ข้าราชการประจำและอภิชนท้องถิ่น โครงสร้างพื้นฐานที่เลว และความยากจนที่แร้นแค้น รัฐบาลตกลงตั้งคณะกรรมการเพื่อรับฟังคำร้องทุกข์ของชาวนา ในเวลาไม่นานคณะกรรมการนั้นได้รับคำร้องเรียนถึง 50,000 คำร้อง ซึ่งไม่สามารถจัดการได้ไหว ข้าราชการเรียกข้อเรียกร้องของชาวนาจำนวนมากว่าไม่อยู่บนความเป็นจริงและไกลเกินเอื้อม

ขบวนการประชาธิปไตย พ.ศ. 2516

ดูบทความหลักที่: เหตุการณ์ 14 ตุลา

การเดินขบวนของนักศึกษาเริ่มขึ้นในปี 2511 และมีผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้นในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1970 (2514–2523) แม้มีการสั่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ในเดือนตุลาคม 2516 นักศึกษา 13 คนถูกจับฐานสมคบคิดโค่นล้มรัฐบาล นักศึกษา คนงาน นักธุรกิจและพลเมืองธรรมดาเข้าร่วมประท้วงด้วย การเดินขบวนเติบโตขึ้นจนมีผู้เข้าร่วมหลายแสนคนและประเด็นการประท้วงขยายจากการเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาเป็นการเรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ด้วย

รัฐบาลสั่งปล่อยตัวนักศึกษาในวันที่ 13 ตุลาคม 2516 เมื่อฝูงชนเริ่มสลายตัวในวันรุ่งขึ้น นักศึกษาจำนวนมากออกจากพื้นที่ไม่ได้เพราะตำรวจพยายามควบคุมการไหลบ่าของฝูงชนโดยสกัดเส้นทางฝั่งทิศใต้ไปยังถนนราชวิถี เมื่อตำรวจจนมุมและมีจำนวนน้อยกว่าฝูงชนมาก จึงยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนใส่ผู้ชุมนุม มีการระดมกองทัพเข้ามา และรถถังวิ่งมาตามถนนราชดำเนิน และมีการยิงปืนลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักศึกษากลุ่มหนึ่งขับรถโดยสารประจำทางและรถดับเพลิงเพื่อพยายามหยุดการเข้ามาของรถถังโดยขับรถพุ่งชน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประณามรัฐบาลที่ไม่สามารถจัดการการเดินขบวนและมีรับสั่งให้จอมพลถนอม ประภาสและณรงค์ออกจากประเทศ วันเดียวกัน จอมพลถนอม กิตติขจรลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในช่วงเย็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีประกาศทางโทรทัศน์ประกาศว่า สัญญา ธรรมศักดิ์ อาจารย์กฎหมายที่ได้รับความนับถือ เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่